การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของน้อง ๆ แต่ละปี นับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และน่าลุ้นสุดๆ สำหรับการสอบ และยื่นคะแนน เพื่อเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยที่อยากเรียน ซึ่งกว่าจะผ่านกระบวนการนั้นได้ ในระบบ TCAS ก็มีสอบกันหลายประเภท ส่วนหนึ่งที่ต้องใช้เป็นคะแนนสอบ เพื่อยื่นเรียนต่อ ก็คือ การสอบ TPAT ซึ่งเป็นข้อสอบเฉพาะของคนเรียนสายวิชาชีพ เป็นการวัดความถนัด ในการเรียนสายเฉพาะทาง เรามาทำความรู้จักกับ TPAT กัน
TPAT คืออะไร
TPAT ย่อมาจาก Thai Professional Aptitude Test เป็นการทดสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพ ออกแบบมาเพื่อวัดความสามารถและศักยภาพของนักเรียนในสาขาวิชาชีพต่างๆ เพื่อเป็นคะแนนยื่นเรียนต่อในมหาวิทยาลัย
TPAT แบ่งออกเป็น 5 วิชา ดังนี้
• TPAT 1: ความถนัดทางแพทยศาสตร์
• TPAT 2: ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
• TPAT 3: ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์
• TPAT 4: ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์
• TPAT 5: ความถนัดทางครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์
ทำไมต้องสอบ TPAT
เหตุผลที่ชัดเจนเลย คือ น้อง ๆ จำเป็นต้องสอบ TPAT สำหรับคนที่ต้องการเลือกเรียนใน 5 สาขาวิชาดังกล่าว เพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในคณะ/สาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เป็นการวัดความสามารถและศักยภาพของน้อง ๆ ช่วยให้เลือกคณะ/สาขาที่เหมาะสมกับตัวเองได้
ข้อสอบ TPAT ทดสอบอะไรบ้าง
อย่างที่บอกว่า น้อง ๆ จะต้องเลือกสอบใน 5 วิชานี้ ตามแบบแผนสาขาที่น้องอยากเรียน โดยแต่ละความถนัด น้อง ๆ จะได้ทดสอบความสามารถดังนี้
1. TPAT1 ความถนัดทางแพทยศาสตร์
น้อง ๆ จะต้องทำข้อสอบ 3 พาร์ท ได้แก่
- พาร์ท 1 เชาวน์ปัญญา ข้อสอบในการคิดวิเคราะห์ข้อมูล การใช้เหตุผล การอ่านจับใจความ การคำนวณ
- พาร์ท 2 จริยธรรมทางการแพทย์ การจำลองสถานการณ์หากน้อง ๆ ได้เป็นแพทย์ ทดสอบความคิดของน้องที่มีต่อการแพทย์
- พาร์ท 3 เชื่อมโยง เน้นการวิเคราะห์ การหาความเชื่อมโยง การอ่านเพื่อหาเหตุผล
เหมาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชกรรม พยาบาลศาสตร์
2. TPAT2 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
แบ่งออกเป็นข้อสอบ 3 ส่วน ผู้สอบสามารถเลือกสอบได้
TPAT21 ทัศนศิลป์
- สอบพื้นฐานทัศนศิลป์ หลักการออกแบบและการจัดองค์ประกอบศิลป์ การวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์งานทัศนศิลป์ ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทัศนศิลป์ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การเห็นคุณค่าและสามารถถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่องานทัศนศิลป์
- ทัศนศิลป์กับการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวัน การเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมในการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ การนําศิลปะ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวัน ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับทัศนศิลป์ในชีวิตประจําวัน
TPAT22 ดนตรี
- สอบองค์ประกอบดนตรี ประกอบด้วยเรื่องของ จังหวะ (Rhythm) ทํานอง (Melody) เสียงประสาน (Harmony) รูปพรรณ (Texture) สีสันของเสียง (Tone Color) ลักษณะของเสียง รูปแบบ (Form)
- สอบบริบทที่เกี่ยวข้องทางดนตรี ประกอบด้วย ประวัติและวรรณคดีดนตรี เครื่องดนตรีและแหล่งกําเนิดของเสียงระดับของการฟัง หลักในการปฏิบัติทักษะดนตรี ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับสังคมและการประยุกต์ใช้ดนตรีในชีวิต
TPAT23 นาฏศิลป์
- สอบพื้นฐานการใช้ร่างกายทางด้านนาฏศิลป์ การสื่อสารด้วยท่าทาง หลักการใช้พื้นที่ทางด้านนาฏศิลป์ ปฏิภาณไหวพริบสําหรับผู้แสดงนาฏศิลป์
เหมาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อในคณะ/สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ การออกแบบ นิเทศศาสตร์ และดนตรี
3. TPAT3 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์
- การทดสอบความถนัด (aptitude test) ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย ด้านตัวเลข (numerical reasoning) ด้านมิติสัมพันธ์ (diagrammatic reasoning) ด้านเชิงกล (mechanical reasoning) และด้านฟิสิกส์ (physics aptitude test)
- การทดสอบความคิดและความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย ความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ความสนใจข่าวสารความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์
เหมาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อในคณะ/สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์
4. TPAT4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรม
การวัดความรู้ทั่วไปด้านศิลปะและการออกแบบ ที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมภายใน ความเข้าใจความรู้ด้านศิลปะและการออกแบบ ที่มีต่อกระบวนการคิดและการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมภายใน การวิเคราะห์ความเชื่อมโยงความรู้ด้านศิลปะและการออกแบบ ที่มีต่อกระบวนการคิดและการออกแบบทางสถาปัตยกรรม การนำความรู้ด้านศิลปะและการออกแบบ ไปใช้กับงานสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมภายใน
เหมาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
5. TPAT5 ความถนัดทางครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์
- สอบความสามารถพื้นฐานทางวิชาชีพครู ประกอบด้วย ความสามารถทางการสื่อสาร ความสามารถทางการคิดวิเคราะห์ ความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ความสามารถทางการเข้าใจตนเองและผู้อื่น ความสามารถทางการคิดเพื่อการเรียนรู้ ทดสอบความสามารถทางด้าน reasoning การคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงตรรกะ ความรู้ทั่วไป และจิตวิทยาการศึกษา
- สอบคุณลักษณะความเป็นครู ประกอบด้วย การมีมนุษยสัมพันธ์ ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ซื่อสัตย์ ยุติธรรม การเข้าใจและยอมรับผู้อื่น การเป็นผู้เรียนรู้และรักที่จะแบ่งปันความรู้ให้ผู้อื่น การส่งเสริมให้ผู้อื่นมีความคิดสร้างสรรค์และการเป็นผู้นำ
เหมาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์
น้อง ๆ สนใจสอบเข้าสาขาวิชาไหนกันบ้าง เลือกตามความถนัดของตัวเอง และเตรียมตัวสอบ TPAT กันเลย ติดตามข่าวสารการศึกษากันที่ www.edugothailand.com ติดตามข่าวสารกิจกรรมเอ็ดดูโกได้ที่ facebook.com/edugothailand หรือสอบถามคำแนะนำด้านการเรียนต่อที่ Line @edugothailand